A trusted partner for AI&Robotics solutions driven by innovations at scale
จากชมรมหุ่นยนต์เล็กๆ ภายในองค์กร ที่ผู้หลงใหลในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์มารวมตัวกัน วันนี้ได้เติบโตกลายมาเป็น AI and Robotics Ventures หรือ ARV หนึ่งธุรกิจในเครือของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่ขยายขอบเขตธุรกิจออกไปนอกกรอบอุตสาหกรรมพลังงานต้นน้ำ
จากจุดเริ่มต้นในการนำหุ่นยนต์ที่ชมรมผลิตขึ้น มาใช้สนับสนุนงานภาคปฏิบัติการในกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม วันนี้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ของพวกเขาก้าวหน้ามาไกล และถูกนำไปบูรณาการเข้ากับการใช้งานในหลากหลายภาคส่วน ซึ่งไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพให้การทำงานแบบก้าวกระโดด แต่ยังเป็นการร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยไปสู่ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศลง และยกระดับนวัตกรรมของประเทศไปสู่สากล
หุ่นยนต์ซ่อมบำรุงท่อใต้น้ำที่บังคับได้จากระยะไกลตัวแรกของโลก โดรนสำรวจและเก็บข้อมูลผืนป่าที่ทำงานเชื่อมกับดาวเทียม แอปพลิเคชันประมวลผลและคาดการณ์ข้อมูลเชิงลึกให้เกษตรกร ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานที่ทีม ARV ภาคภูมิใจ เพราะได้ใช้ทักษะความสามารถยกระดับชีวิตคนไทยในมิติต่างๆ ให้ดีขึ้น
ผลงานของ ARV นั้นน่าทึ่ง เช่นเดียวกับเรื่องราวของทีมนวัตกรรุ่นใหม่ผู้อยู่เบื้องหลัง วันนี้เราจะไปพูดคุยกับ ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป ARV ผู้ปลุกปั้นธุรกิจเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์นี้มาตั้งแต่เริ่มต้น หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ในอนาคตจะล้ำหน้าไปขนาดไหน และจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราได้อย่างไร บทสนทนากับ ดร.ธนา บนหน้าจอต่อไปนี้มีคำตอบ
01 ชมรมที่เป็นเสมือนห้องทดลอง
ปตท.สผ. สนับสนุนให้พนักงานมีกิจกรรมชมรมนอกเวลางาน ดร.ธนา ที่สนใจเรื่องหุ่นยนต์เป็นทุนเดิมจึงใช้โอกาสนี้เริ่มทำชมรมหุ่นยนต์ โดยชักชวนพนักงานคนอื่นๆ ที่สนใจในสิ่งเดียวกัน ไม่ว่าจะมีความรู้พื้นฐานหรือไม่ ให้มาร่วมกันทำกิจกรรมนอกเวลาที่เพิ่มพูนทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์
จากหน้างานบางอย่างมีความเสี่ยง เช่น การซ่อมบำรุงท่อส่งปิโตรเลียมในอุตสาหกรรมพลังงาน ที่ต้องมีคนดำน้ำลงไปใต้ทะเลลึก ดร. ธนาและทีมได้นำปัญหาจากการทำงานประจำเหล่านี้มาขบคิดต่อที่ชมรมหุ่นยนต์ ว่าโซลูชั่นใดจะช่วยลดความเสี่ยงอันตรายลงได้บ้าง
ชมรมแห่งนี้เป็นเสมือนห้องทดลองที่สมาชิกได้ร่วมกันสร้างสรรค์หุ่นยนต์ โดยเน้นไปที่ประเภท B2B หรือหุ่นยนต์สำหรับใช้ในภาคธุรกิจ ความมุ่งมั่นของทีมชมรม ทำให้พวกเขาสร้างสรรค์ผลงานโดรนสำรวจปากปล่องเผาก๊าซ (Flare Stack) บนแท่นผลิตปิโตรเลียมได้สำเร็จ
“เราเห็นศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจ จึงได้จัดตั้งบริษัท ARV ขึ้น ผมมองว่าหัวใจของการนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา คือความเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ เพื่อจะหาโซลูชั่นแก้ไขได้ตรงจุด เราไม่เพียงแค่นำสิ่งที่พัฒนาขึ้นมาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับบริษัทแม่ แต่เราคาดหวังไปไกลกว่านั้น โดยอยากให้เทคโนโลยีของ ARV สร้างประโยชน์แก่สังคมและสร้างความยั่งยืนในมิติต่างๆ ผ่านการบูรณาการให้เกิดประโยชน์ครอบคลุมและตอบโจทย์ธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆได้อย่างหลากหลาย” ดร. ธนาเล่า
หลังจากนั้นหุ่นยนต์ซ่อมบำรุงท่อใต้น้ำที่สามารถควบคุมจากระยะไกลตัวแรกของโลกก็สำเร็จตามมา กลายเป็นว่ากิจกรรมจากชมรมนอกเวลางาน ได้สร้างโซลูชั่นสุดล้ำที่ไม่เพียงลดความเสี่ยงให้พนักงาน แต่ยังช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในงานซ่อมแซมได้กว่าครึ่งจากการทำงานรูปแบบเดิมอีกด้วย
02 ขับเคลื่อนสังคมด้วยฟันเฟืองเทคโนโลยี
“ตั้งแต่จัดตั้งบริษัท สี่ปีที่ผ่านมานับเป็นช่วงที่เราวางรากฐานสำคัญให้ ARV ทั้งบุคลากร สถานที่ และโครงการพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญเติบโตอย่างรวดเร็ว เราได้จัดตั้งบริษัทภายใต้การกำกับดูแลของ ARV ที่เน้นการทำงานแบบสตาร์ทอัพอีกสี่บริษัท เพื่อพัฒนาให้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ สามารถทำงานและช่วยเหลือคนในอุตสาหกรรมที่หลากหลายขึ้น”
ดร. ธนา อธิบายว่าตอนนี้พวกเขามี Rovula ธุรกิจให้บริการสำรวจ ตรวจสอบและซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐานใต้น้ำอย่างครบวงจร Skyller ธุรกิจให้บริการเทคโนโลยีโดรนสำหรับสำรวจ ตรวจสอบ และจัดการโครงสร้างพื้นฐาน Varuna ธุรกิจที่พัฒนาเทคโนโลยีเกษตร และป่าไม้อัจฉริยะอย่างครบวงจร และสุดท้าย Cariva ธุรกิจที่รวบรวมพันธมิตรผู้นำเทคโนโลยีโครงข่ายข้อมูลสุขภาพ
“ARV มุ่งสร้างธุรกิจใหม่ไปพร้อมกับการสร้างคุณค่าระยะยาวให้กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โครงการที่ดำเนินไปแล้วและมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม คือการบูรณาการเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมและภาพถ่ายจากโดรนมาใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงและพื้นฟูพื้นที่สีเขียวในโครงการ OUR Khung BangKachao (คุ้งบางกะเจ้า) เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ปอดของกรุงเทพฯ
“ Varuna Smart Farming Solution ระบบและแอปพลิเคชั่นที่ประมวลผลข้อมูลผ่านการใช้เทคโนโลยีสำรวจระยะไกล และ AI เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีข้อมูลเชิงลึกและรู้ว่าต้องใช้น้ำเท่าไหร่ สภาพดินในพื้นที่ตนเองตอนนี้มีสารอาหารเพียงพอหรือไม่ สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก และเกษตรกรจะสามารถคาดการณ์ได้ถึงปริมาณผลผลิตโดยรวมในฤดูเก็บเกี่ยว” ดร. ธนา บอกอย่างกระตือรือร้น
03 เมื่อหุ่นยนต์และ AI คือกุญแจสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
นอกจากธุรกิจย่อยทั้งสี่ ตอนนี้ ARV กำลังพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือ Drone Academy สถาบันเพื่อวางรากฐานความรู้และฝึกอบรมนักบินโดรน ตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในหลักสูตรเฉพาะทาง เพื่อให้ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อตอบสนองการทำงานยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
ถอยออกมามองในภาพกว้าง ดร . ธนาอธิบายว่าการลงทุนที่เน้นในนวัตกรรมและเทคโนโลยี คือหนึ่งในกุญแจที่จะช่วยเร่งอัตราการเติบโตของรายได้ ซึ่งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศไทยให้สามารถก้าวพ้นจากการติดกับดักรายได้ปานกลาง และการลงทุนในเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องของ ARV ก็สอดคล้องและตอบโจทย์นี้ เพราะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้บุคลากรและเทคโนโลยีภายในประเทศ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
“ตอนนี้ ปตท.สผ. ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมในชื่อ PTIC (PTTEP Technology and Innovation Center) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง เพื่อใช้เป็นสถานที่พัฒนาเทคโนโลยี สำหรับนำไปใช้งานจริงในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งใน PTIC ก็มีหุ่นยนต์ของ ARV ดำเนินการอยู่ด้วย เราหวังว่าความมุ่งมั่นของเราจะช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทย”
04 ความร่วมมือที่สร้างนวัตกรรมสังคม
ในฐานะตัวแทนบริษัท ARV ดร. ธนาเชื่อว่าทีมงานทุกๆ คนภาคภูมิใจที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้เรียนมา ตลอดจนประสบการณ์ในวิชาชีพมาสร้างประโยชน์ให้ภาคส่วนต่างๆ แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ก็ยินดีที่ได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และยกระดับสังคมให้ดีขึ้น
ดร. ธนากล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมมองว่าในการพัฒนาทุกระดับ คีย์เวิร์ดสำคัญ คือ ความร่วมมือหรือ Collaboration เพื่อบูรณาการการทำงาน และองค์ความรู้ของทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน อย่างที่ ARV เองก็เน้นแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสูง เพื่อสร้างโซลูชั่นนวัตกรรมที่ล้ำหน้ายิ่งๆ ขึ้นต่อไปในอนาคต
“ทุกวันนี้ ARV เป็นธุรกิจที่รวมตัวคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ เราเชื่อว่าการเป็นคนเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีธรรมาภิบาล เป็นคนดี และต้องดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อช่วยให้โลกและสังคมเดินหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย”